Cr.Tu Rex Gloriæ Christe
ไม่เคยศึกษาพระคัมภีร์แบบนี้มาก่อนจนได้รู้จักกับ นคท.
ผมได้ยินคำว่า “มาลาคี” ครั้งแรกจากพี่ที่โบสถ์ที่อยู่ดีๆมาถามผมว่า “รู้มั้ย !! พระคัมภีร์เล่มไหนมีราคาแพงที่สุด?” ผมก็ตอบไปว่า “พระคัมภีร์เล่มที่ใหญ่ๆขอบทองที่มีแปลไทย-อังกฤษ น่าจะแพงที่สุดนะ” แต่เขากลับตอบว่า “ไม่ใช่ พระธรรมที่มีราคาแพงที่สุดคือ “มาลาคี” เพราะ “มาลาคี” ผวนได้ว่า “มีราคา” ดังนั้น มาลาคีเลยมีราคาแพงที่สุด 555” นั่นแหละ คือความทรงจำแรกที่ผมนึกถึงพระธรรมมาลาคี
หลังจากนั้นพออยู่ในโบสถ์ไปสักพัก ผมก็จะได้ยินชื่อพระธรรมมาลาคีเป็นบทเชิญชวนให้คนถวายทรัพย์ โดยผู้นำจะอ่านพระธรรมมาลาคี 3:10 “พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า จงนำทศางค์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง เพื่อว่าจะมีอาหารในนิเวศของเรา จงลองดูเราในเรื่องนี้ว่า เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่” และนั่นทำให้ผมเข้าใจเอาเองว่า “ถ้าเราถวายทรัพย์ให้พระเจ้ามากๆ เราจะได้รับพระพรอย่างล้นไหลจากพระเจ้า” จัดไป !! ยิ่งถวายยิ่งดี!!
แต่เมื่อผมมาเข้ากลุ่มเซลล์ นคท. ตอนเรียนที่วิศวะ ลาดกระบัง ในวันนั้นก็มีการศึกษาพระธรรมมาลาคีบทที่ 3:6-12 พอดี และรุ่นพี่ที่กลุ่มเซลล์ก็พาเราอ่านพระคัมภีร์ให้เห็นบริบทที่กว้างขึ้น ในบทที่ 3:8-9 บอกว่า “มนุษย์จะฉ้อโกงพระเจ้าหรือ? ที่จริงเจ้าทั้งหลายได้ฉ้อโกงเรา แต่เจ้ากล่าวว่า ‘พวกเราฉ้อโกงพระเจ้าอย่างไร?’ ก็ฉ้อโกงในเรื่องทศางค์และเครื่องบูชานั่นซี เจ้าทั้งหลายต้องถูกสาปแช่งด้วยคำสาปแช่ง เพราะเจ้าฉ้อโกงเราทั้งชาติ” พอได้อ่านตอนนี้ด้วยกัน รุ่นพี่ที่กลุ่มเซลล์ก็บอกว่าที่จริงแล้วในตอนนั้นคนอิสราเอลไม่ได้ถวายทศางค์ให้กับพระเจ้า พวกเขา “ฉ้อโกง” ต่อพระเจ้า และเมื่อเขาฉ้อโกงพระเจ้านั้น เขาก็ไม่มีผลผลิตทางการเกษตรใดๆเลย แต่ถ้าเขากลับมาสัตย์ซื่อในการถวายต่อพระเจ้า พระเจ้าจะสัตย์ซื่อต่อพวกเขาเหมือนกัน
ดังที่ในข้อ 11 บอกว่า “เราจะขจัดพวกตั๊กแตนให้แก่เจ้า เพื่อว่ามันจะไม่ทำลายผลแห่งพื้นดินของเจ้า และผลองุ่นในสวนของเจ้าจะไม่ร่วง พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสดังนี้แหละ” และรุ่นพี่ยังบอกอีกว่า พระธรรมตอนนี้ไม่ได้บอกเราว่า “ยิ่งถวายเยอะ เราจะยิ่งรวย แต่พระธรรมตอนนี้เรียกร้องให้เรา “ไม่ฉ้อโกง” ต่อพระเจ้า โดยถวายชีวิตเราเป็นเครื่องบูชาที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าต่างหาก!!!”
Cr. Pinterest
สิ่งนี้ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพระธรรมมาลาคีบทที่ 3:10 ไปเลย และมากยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้ผมเปลี่ยนความคิดในวิธีการศึกษาพระคัมภีร์ไปด้วย เราไม่ควรอ่านพระคัมภีร์เพียงแค่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่เราควรอ่านพระคัมภีร์โดยดูบริบทของพระธรรมตอนนั้นๆ และศึกษาอย่างละเอียด จนรู้ว่าผู้เขียนพระธรรมเล่มนั้นต้องการจะสื่อกับผู้อ่านในสมัยนั้นว่าอย่างไร และสิ่งนี้คือสิ่งที่ นคท. ได้สอนนักศึกษาตั้งแต่เริ่มพันธกิจจนถึงทุกวันนี้
การอ่านพระคัมภีร์โดยค้นหาว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไรให้ผู้อ่านในสมัยนั้นก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในสมัยนี้ เรียกว่าการศึกษาพระคัมภีร์แบบอุปนัย (Inductive Bible Study หรือ IBS) โดยการศึกษาพระคัมภีร์แบบนี้จะไม่ทำให้เราพลาดไปจากเป้าที่พระเจ้าต้องการตรัสผ่านพระคัมภีร์อย่างที่ผมเคยพลาดในตอนแรก และเมื่อเราเริ่มต้นอ่านพระคัมภีร์แบบนี้ ผมเชื่อเลยว่าเราจะศึกษาพระคัมภีร์ได้สนุกมากขึ้นอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ ถ้าพี่น้องสนใจอยากรู้เรื่อง IBS เพิ่มเติมติดต่อ นคท. ได้เลยนะครับ
ชลวีร์ วัฒกีเจริญ (เปา)
สต๊าฟทีมนักศึกษา
Comments